วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

โดย นายสมเกียรติ ชอบผล
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กรอบความคิด
๑. พัฒนาระบบวางแผนและบริหารจัดการ
แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการโรงเรียนให้ชัดเจนมากขึ้นคือ ในปีแรกตั้งเป้าหมายจะดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ๘๐๐ โรง แต่ในที่สุดต้องมีการจัดระบบโรงเรียน ที่รองรับนักเรียนเป้าหมายในแต่ละระดับ เช่น ปฐมวัย ควรมีโรงเรียนทั้งของเอกชนท้องถิ่น และ สพฐ. จำนวนเท่าใดในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สามารถรองรับเด็กได้ เช่นในโครงพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน เป็นต้น ในระดับปฐมวัยจะมีจำนวนมากหน่อย เพราะเด็กเล็กเดินทางไกลไม่ได้ ในระดับสูงขึ้น จำนวนโรงเรียนก็จะลดลง ดังนั้น ถ้าทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อไปในเขตพื้นที่การศึกษาในอนาคต จะต้องเกิดระบบโรงเรียนขึ้น และมีข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต่อไปโรงเรียนของรัฐทุกแห่งที่จัดให้บริการการศึกษา ตามมาตรฐานของรัฐ รัฐก็จะสนับสนุนทรัพยากรอย่างเต็มที่ แต่ถ้าจัดได้สูงกว่ามาตรฐานของรัฐ ก็จะมีโรงเรียนในลักษณะอื่นเกิดขึ้น เช่นCharter School ซึ่งก็จะออกนอกระบบไป เมื่อวางระบบการจัดโรงเรียนเหล่านี้ได้ การบริหารทุกเรื่องจะทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะไม่สามารถบริหารจัดการตามเป้าหมายได้ ดังนั้นถ้าจัดการดี จะรู้ว่าโรงเรียนไหนเป็นโรงเรียนหลักที่มีอยู่ หรือโรงไหนเป็นโรงเรียนชั่วคราว เช่น โรงเรียนในฝันในอำเภอเป็นโรงเรียนหลักต่อไปได้ และโรงเรียนในฝันในตำบล ก็ดูว่าตำบลไหนต้องมีโรงเรียนหลัก ก็กำหนดได้จากการทำ School Mapping ว่าโรงเรียนหลักแต่ละระดับจะทีสักกี่โรง การจัดทรัพยากรก็ให้ที่โรงเรียนหลักที่ต้องอยู่ถาวร ส่วนโรงเรียนทั่วไป ก็จัดให้เท่าที่จะสามารถดำเนินการบริหารจัดการให้มีคุณภาพได้ ถ้าทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำงานง่ายขึ้น ดังนั้น โรงเรียน ๘๐๐ โรง ในรุ่น แรก ขอให้เลือกที่ดีจริงๆ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพต่อไป เช่น โรงเรียนในฝัน ที่ลำปาง เดิมรู้ว่ามีเด็กหายไปมาก พอติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตและมีระบบบริหารจัดการที่ดี เด็กก็มาเรียนเพิ่มขึ้นเกือบพันคน ซึ่งมีเด็กที่ได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศด้วย เป็นตัวอย่างการทำงานที่ประสบความสำเร็จจากการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน

๒. พัฒนาระบบการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา
เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้คณะจากสำนักพัฒนาวิชาการและคุณภาพการศึกษาไปดูแลสนับสนุนเรื่องการจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน เช่น หลักสูตรคละชั้น สื่อการเรียนการสอนที่ส่งเสริมเด็กเป็นรายบุคคล และการประกันคุณภาพภายใน โดยเฉพาะถ้าในโรงเรียน๘๐๐ โรงนี้ ทำไม่สำเร็จ ที่เหลืออีกเป็นหมื่นโรงเรียนก็จะพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นต้องมีทีมดูแลช่วยเหลือเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจัง

๓. ความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน
โรงเรียน ๔๐๐ โรง ใน ๘๐๐ โรง จะได้รับการจัดสรรคอมพิวเตอร์ไปให้ก่อน เพื่อดูว่าจะสามารถจัดการเรียนการสอนให้เอื้อต่อเด็กได้เรียนรู้อย่างจริงจัง และพัฒนาครูให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างเข้มแข็ง และมีแนวทางสนับสนุนบุคลากรช่วยงานธุรการจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าลดจำนวนครูไม่ได้ ก็คงจะยังไม่มีบุคลากรส่วนนี้ลงไป แต่ถ้าสามารถบริหารจัดการ เพื่อลดจำนวนครูลงได้ เช่นโดยการสอนคละชั้น หรือรวมกลุ่มกัน และลดจำนวนครูลงได้บ้าง ก็จะจัดบุคลากรช่วยงานธุรการให้โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ได้ นอกจากนั้น จะมีสื่อการเรียนสำหรับเด็กเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการจักรยานยืมเรียนมาสนับสนุนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ที่ใช้จักรยานได้ จะทำไห้เด็กเดินทางได้กว้างขึ้น ค่าเดินทางผู้เรียนเพิ่มจาก ๖ บาท เป็น ๑๐ บาทเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว

๔. การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เป็นหน้าที่ที่เขตจะต้องดูแลให้เกิดขึ้น และในฐานะที่เราทำงานร่วมกัน แต่ละส่วนจะมีบทบาทที่ต่างกัน ดังนี้

บทบาทสำคัญของ สพฐ.
๑) กำหนดนโยบายและเป้าหมาย จากข้อมูลและการประชุมร่วมกัน
๒) พัฒนาหลักสูตรบูรณาการ ซึ่งจะมีทีมลงไปช่วย โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ทำอยู่
บูรณาการกับแนวความคิดใหม่
๓) ประสานงาน และสนับสนุนการ ดำเนินงานตามแผนของ สพท.
๔) ติดตาม กำกับ และประเมินผล
๕) ประชาสัมพันธ์ ... ร่วมจัด รร.ให้ได้ขนาดมาตรฐาน เพื่อลูกหลานและประเทศชาติ...
๖) วิจัย และพัฒนา

บทบาทสำคัญของ สทพ.
๑) ตั้งคณะกรรมการ รอง ผอ.สพท.
๒) จัดระบบข้อมูล สารสนเทศ เขตต้องรู้สภาพโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดใน กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต่อไป ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของ สพท. จะดูเรื่องนี้เป็นเรื่อง สำคัญเรื่องหนึ่ง
๓) วางแผนและพัฒนาการบริหารจัดการ รร. รูปแบบต่าง ๆ
๔) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
๕) การบริหารจัดการระหว่าง รร.
๖) นิเทศ กำกับ ติดตามประเมินผล รร. รายโรง ตามตัวชี้วัด
๗) พัฒนาระบบการเรียนการสอน
๘) สร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน
๙) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา

การรวม หรือเลิกสถานศึกษา
เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กนี้ ถึงอย่างไร โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งยังต้องมีอยู่และบริหารจัดการให้ดีขึ้น แต่ในที่สุด มีความจำเป็นที่โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งต้องเลิกไป ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑) โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว ขณะนี้มีประมาณ ๒๐๐ โรง ที่ต้องยุบเลิก
๒) โรงเรียนที่วิเคราะห์แล้วมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น มีเด็ก ๒๗ คน ครู ๖ คน เป็นโรงเรียนที่ต้องบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน โดยการรวม หรือเลิก
๓) การเดินทางของนักเรียน ถ้าเลิกโรงเรียนหนึ่งไป แล้วเด็กสามารถเดินทางไปอีกโรงเรียนหนึ่งได้ ถ้าเดินทางไปไม่ได้ ก็จำเป็นต้องคงอยู่ แต่ถ้านักเรียนมีโอกาสที่ดีกว่า โดยไปเรียนที่อื่น ก็ต้องบริหารจัดการให้ได้
๔) มาตรฐานคุณภาพ เช่น มีเด็ก ๒๐ คน อ่านหนังสือไม่ออก ๒๐ คน ก็ต้องพิจารณา
๕) การมีส่วนร่วม การสนับสนุนของชุมชน มีข้ออ้างว่า โรงเรียนอยู่คู่ชุมชนมานาน แต่ถ้าชุมชนไม่เข้าไปช่วยสนับสนุนโรงเรียนเลย ก็เปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนไปเรียนที่อื่นดีกว่าถ้าเป็นความต้องการของผู้ปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น